สำหรับพนักงานประจำหลาย ๆ ท่านการขอสินเชื่อนั้นกลับกลายเป็นเรื่องที่ท้าทาย อาจจะด้วยเหตุปัจจัยหลาย ๆ อย่างเลยทำให้รู้สึกไม่มั่นใจและกังวลกับผลลัพธ์ที่จะได้มา แต่ด้วยการเตรียมตัวง่าย ๆ และการรู้จักเคล็ดลับบางอย่าง การขอสินเชื่อจะกลายเป็นเรื่องง่ายและยังสามารถได้ดอกเบี้ยที่ถูกอย่างไม่น่าเชื่อ มาดูกันว่ามีเคล็ดลับอะไรบ้างที่ควรทราบ
1. เตรียมเอกสารให้ครบถ้วน
การเตรียมเอกสารที่จำเป็นเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุดโดย
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาหนังสือรับรองเงินเดือน
- สำเนาสลิปเงินเดือนย้อนหลัง 3-6 เดือน
- สำเนาสเตทเม้นท์ธนาคารที่ได้รับเงินเดือน
ย้อนหลัง 6-12 เดือน
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล
- สำเนาทะเบียนสมรส
- ภงด.90/91
- หนังสือผ่านสิทธิสวัสดิการที่ทำงาน
2. รักษาประวัติการเงินที่ดี
ประวัติการเงินในที่นี้หมายถึงประวัติในการชำระสินเชื่อต่าง ๆ ที่เรามี โดยเมื่อเราจำเป็นจะต้องยื่นขอสินเชื่อ ธนาคารจะทำการตรวจสอบประวัติการชำระสินเชื่อของคุณเพื่อประเมินความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ
แต่การรักษาประวัติการเงินที่ดีนั้นไม่ใช่ว่าไม่ให้มีสินเชื่อใด ๆ เลย แต่หมายความว่าให้มีการชำระสินเชื่อต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่ได้ตกลงไว้กับทางธนาคารหรือผู้ให้สินเชื่อ ตัวอย่างเช่นถ้ามีบัตรเครดิต หากใช้รูดบัตรเพื่อซื้อสินค้ารอบใด ในรอบต่อไปที่จะต้องชำระหนี้ ก็พยายามชำระให้ครบตามยอดที่ได้รูดเอาไว้ หรือหากเป็นการรูดแบบผ่อน 0% ก็ให้ชำระตามยอดผ่อนและตรงตามระยะเวลาที่เรียกเก็บเงินตามรอบบิลของเราเอง หากทำได้ตามนี้เราก็จะเป็นผู้ที่มีประวัติทางการเงินที่ดี หรือเรียกง่าย ๆ ว่ามีเครดิตดีในสายตาของธนาคารอย่างแน่นอน
3. ใช้สิทธิพนักงานประจำ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพนักงานประจำถือว่าเป็นอาชีพพื้นฐานที่ธนาคารสามารถให้สินเชื่อได้ง่าย ด้วยเหตุที่พนักงานประจำมีรายได้ประจำที่แน่นอนเป็นประจำทุกเดือน และสามารถยืนยันที่มาของรายได้ได้โดยง่าย จึงทำให้หลาย ๆ ครั้ง ธนาคารมักออกโปรโมชั่นพิเศษสำหรับพนักงานประจำก็ดี หรือสำหรับอาชีพพิเศษบางอย่างก็ดี เช่น หมอ พยาบาล ข้าราชการ ฯลฯ หรือแม้แต่บางบริษัทที่ HR กับธนาคารได้มีการตกลงสิทธิพิเศษให้กับพนักงานเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษเพื่อขอสินเชื่อต่าง ๆ
โดยหากเราไม่แน่ใจว่าบริษัทของเรานั้นได้มีสิทธิพิเศษต่าง ๆ ดังกล่าวนี้หรือไม่ เราสามารถตรวจสอบสิทธิเหล่านี้กับทาง HR ของที่ทำงาน หรือสอบถามกับสาขาธนาคารที่เราสนใจขอสินเชื่อด้วยก็ได้เช่นกัน
4. เปรียบเทียบข้อเสนอจากหลายธนาคาร
แม้ว่าจะมีการให้สินเชื่ออยู่ในทุก ๆ ธนาคาร แต่ว่าแต่ละธนาคารก็มักจะมีความแตกต่างด้านรายละเอียดต่าง ๆ ในการให้สินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็น รายได้ขั้นต่ำ อาชีพพื้นฐานของลูกค้า การคิดคำนวณรายได้พิเศษอื่น ๆ เช่น โบนัส โอที ค่าคอมฯ ฯลฯ โดยในรายละเอียดเหล่านี้ สิ่งสำคัญที่เราควรทราบ และใช้เพื่อเปรียบเทียบในการใช้เลือกธนาคารที่เราจะยื่นขอสินเชื่อคือ อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่เราต้องการใช้ ระยะเวลาในการผ่อนชำระ วงเงินที่ธนาคารจะสามารถให้ได้ รวมถึงโปรโมชั่นที่ธนาคารสามารถให้ลูกค้าได้เช่น ฟรีค่าธรรมเนียมการจดจำนอง ฟรีค่าประเมินหลักทรัพย์ ฯลฯ สำหรับการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นต้น เพื่อให้เราสามารถเลือกธนาคารที่เห็นว่าดีที่สุดสำหรับเรานั่นเอง
5. มีผู้ค้ำประกันหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ในปัจจุบันการมีผู้ค้ำประกันหรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้นแทบไม่ค่อยเห็นกันแล้วสำหรับการขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย แต่ในบางครั้งที่ประสิทธิภาพทางการเงินของเราอาจจะไม่มั่นคงเพียงพอหรือไม่มากพอในสายตาของธนาคาร การที่เรามีผู้ค้ำประกัน หรือการมีหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้น แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงที่มากขึ้น รวมไปถึงความสามารถในการชำระสินเชื่อที่มากขึ้น ถือเป็นตัวช่วยเพิ่มคะแนนให้เราสามารถมีโอกาสขอสินเชื่อผ่านได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
6. ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ
สุดท้ายแล้วหากคุณอ่านจนมาถึงข้อนี้ แต่ก็ยังพบว่าตัวเองยังคงไม่มั่นใจในการขอสินเชื่อกับทางธนาคาร การขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญจะสามารถเพิ่มความมั่นใจ ความเข้าใจ และเพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อให้กับคุณได้อย่างแน่นอน โดยผู้เชี่ยวชาญในที่นี้ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารที่คุณสนใจ หรือแม้แต่นายหน้าอสังหาฯ หรือบริษัทอสังหาฯ ที่คุณต้องการซื้อ กรณีที่คุณกำลังมองหาซื้ออสังหาฯ อยู่ด้วยเช่นกัน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้คือผู้เชี่ยวชาญ ที่คร่ำหวอด และมีประสบการณ์อย่างโชกโชนในด้านนี้อย่างแน่นอน
ถ้าคุณปฏิบัติตามเคล็ดลับเหล่านี้ คุณจะมีโอกาสสูงขึ้นในการได้รับอนุมัติสินเชื่อและยังได้เงื่อนไขที่ดีที่สุดอีกด้วย ขอให้คุณโชคดีและได้รับสินเชื่อในเงื่อนไขที่คุณต้องการ